Zetkin, Clara (1857–1933)

นางคลารา เซทคิน (พ.ศ. ๒๔๐๐–๒๔๗๖)

 คลารา เซทคิน เป็นเลขาธิการของสำนักงานเลขาธิการสตรีระหว่างประเทศขององค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* หรือองค์การโคมินเทิร์น (Comintern)* นักทฤษฎีลัทธิมากซ์ นักสิทธิสตรีชาวเยอรมัน และผู้ร่วมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน (Communist Party of Germany–KPD) เซทคินเข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือเอสพีดี (Social Democratic Party of Germany–SPD)* ใน ค.ศ. ๑๘๗๘ และมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวทางความคิดซึ่งทำให้ “ปัญหาสตรี” (Women Question) เป็นเรื่องที่ยอมรับกันในขบวนการสังคมนิยมเยอรมันระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๑–๑๙๑๗ เซทคินเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Die Gleichheit (Equality) ของพรรคเอสพีดีซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์บุกเบิกเรื่องสิทธิเสมอภาคของสตรี และรณรงค์ความคิดการปลดปล่อยสตรีด้วยการต่อสู้ทางชนชั้นและการโค่นล้มระบบทุนนิยมด้วยการปฏิวัติทางชนชั้น (class revolution) เธอเน้นความคิดว่าความเสมอภาคและสถานภาพของสตรีจะได้รับการปลดปล่อยอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อมีการสถาปนาระบอบสังคมนิยมขึ้น ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เซทคินผลักดันการจัดประชุมเพื่อต่อต้านสงครามของสตรีสังคมนิยมระหว่างประเทศ (International Socialist Women’s Anti-War Conference) ขึ้นในต้น ค.ศ. ๑๙๑๕ และเคลื่อนไหวต่อต้านพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันที่สนับสนุนการทำสงครามของรัฐบาลเยอรมันโดยเข้าร่วมกับพรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระเยอรมัน (Independent Social Democratic Party of Germany–USPD) ซึ่งเป็นกลุ่มปีกซ้ายของพรรคเอสพีดีและแยกตัวออกใน ค.ศ. ๑๙๑๗ หลังสงครามโลกยุติลงเซทคินเข้าร่วมกับสันนิบาตสปาร์ตาคัส (Spartacus League) และพรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระเยอรมันจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๘ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีบทบาทในช่วงสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic ค.ศ. ๑๙๑๙–๑๙๓๓)*

 คลารา เซทคิน หรือคลารา ไอส์เนอร์ (Clara Eissner) เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๕๗ ที่หมู่บ้านวีเดเรา (Wiederau) ราชอาณาจักรแซกโซนี (Kingdom of Saxony) ซึ่งปัจจุบันหมู่บ้านนี้อยู่ในเมืองเคอนิกส์ไฮน์-วีเดเรา (Königshain; Wiederau) กอทท์ฟรีด ไอส์เนอร์ (Gottfried Eissner) บิดาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนและเป็นนักเล่นออร์แกนประจำโบสถ์ของหมู่บ้านทั้งเป็นคนเคร่งศาสนา เขาเคยหย่าร้างมาก่อน ต่อมาแต่งงานกับโยเซฟีเนอ ฟีทาเลอ (Josephine Vitale) แม่ม่ายซึ่งมีการศึกษาสูงและมาจากครอบครัวที่มีฐานะ ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน ๓ คน โดยเซทคินเป็นบุตรสาวคนโต มารดาเป็นนักกิจกรรมในแวดวงการศึกษาและเชื่อในสิทธิเสมอภาคของสตรีรวมทั้งการที่ผู้หญิงจะมีอำนาจบริหารจัดการทางเศรษฐกิจได้ด้วยตนเอง ตั้งแต่เล็กเซทคินจึงถูกอบรมสั่งสอนให้เชื่อมั่นในตนเองและความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง ใน ค.ศ. ๑๘๗๒ บิดาเกษียณอายุครอบครัวจึงอพยพไปอยู่ที่เมืองไลพ์ซิก (Leipzig) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของมารดา เซทคินซึ่งต้องการยึดอาชีพครูจึงเข้าเรียนที่วิทยาลัยครูแห่งไลพ์ซิกตามคำแนะนำของมารดา เธอมีโอกาสพบและเป็นเพื่อนกับนักศึกษาหญิงหัวก้าวหน้าที่แนะนำให้เธอได้อ่านหนังสือพิมพ์สังคมนิยมและหนังสือการเมือง เธอยังถูกชักจูงให้เข้าร่วมฟังการบรรยายและกิจกรรมของสมาคมสตรีเยอรมันแห่งชาติ (National Association of German Women) และสมาคมการศึกษาของสตรีแห่งไลพ์ซิก (Leipzig Women’s Education Society) สมาคมทั้ง ๒ แห่ง เป็นองค์การที่มีนักสิทธิสตรีเป็นสมาชิกส่วนใหญ่เซทคินจึงหมกมุ่นกับเรื่องสิทธิสตรีและสังคมนิยมซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นอุดมการณ์และกิจกรรมทางการเมืองที่เธอยึดมั่นตลอดชีวิต

 ใน ค.ศ. ๑๘๗๕ พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยมาร์กซิสต์ (Marxist Social Democratic Worker’s Party) ซึ่งมีแฟร์ดีนานด์ เอากุสท์ เบเบิล (Ferdinand August Bebel) หรือเอากุสท์ เบเบิล (August Babel)* และวิลเฮล์ม ลีบเนชท์ (Wilhelm Liebknecht)* เป็นผู้นำได้รวมเข้ากับสหภาพแรงงานเยอรมัน (General German Worker’s Union) ที่มีแฟร์ดีนานด์ ลัสซาลล์ (Ferdinand Lassalle)* เป็นผู้นำ โดยใช้ชื่อว่าพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือพรรคเอสพีดี เซทคินได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคใหม่นี้และเข้าร่วมกิจกรรมของพรรคจนแทบจะไม่ใส่ใจต่อการเรียน เธอได้เพื่อนใหม่หลายคนและคนหนึ่งเป็นนักศึกษาหนุ่มหน้าตาคมสันจากรัสเซียชื่อออสซิป เซทคิน (Ossip Zetkin) เขาแนะนำเธอให้อ่านงานเขียนของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* และฟรีดริช เองเงิลส์ (Friedrich Engels)* รวมทั้งอธิบายแนวความคิดสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ (Scientific Socialism) โดยใช้หนังสือแถลงการณ์คอมมิวนิสต์ (Communist Manifesto)* เป็นคู่มือศึกษา เซทคินยังไปร่วมกิจกรรมและการบรรยายของสมาคมการศึกษาของกรรมกรแห่งไลพ์ซิก (Leipzig Worker’s Education Society)ตามคำแนะนำของออสซิป เธอหันมายอมรับลัทธิมากซ์และใช้ชีวิตอย่างอิสระโดยไม่ฟังการห้ามปรามจากทางบ้าน ความใกล้ชิดฉันสหายระหว่างเซทคินกับออสซิปในท้ายที่สุดเปลี่ยนเป็นความรักและความผูกพันกันจนเธอตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกับเขาโดยไม่แต่งงาน เพราะไม่ต้องการสูญเสียสัญชาติเยอรมัน แต่เธอเปลี่ยนชื่อสกุลเป็นเซทคิน ต่อมาทั้งคู่มีบุตรชาย ๒ คน

 ในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๘๗๗พรรคเอสพีดีได้รับเลือกเข้าสู่สภาไรค์ชตากรวม ๑๒ ที่นั่ง ซึ่งมีส่วนทำให้ออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* อัครมหาเสนาบดีแห่งจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* หวาดวิตก บิสมาร์คจึงใช้เหตุการณ์การพยายามลอบปลงพระชนม์ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ (William I)* รวม ๒ ครั้งในกลาง ค.ศ. ๑๘๗๘ เป็นเหตุผลอ้างว่ากลุ่มฝ่ายซ้ายหัวรุนแรงอยู่เบื้องหลัง และผลักดันกฎหมายต่อต้านสังคมนิยม (Anti-Socialist Law) ให้ผ่านสภาในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๗๘ กฎหมายฉบับนี้ทำให้กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายและพวกสังคมนิยมถูกควบคุมการเคลื่อนไหวและแสดงออกจนต้องทำการเคลื่อนไหวใต้ดิน ออสซิปถูกจับและถูกเนรเทศออกนอกประเทศ เซทคินจึงติดตามออสซิปลี้ภัยไปรัสเซียและร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมการเคลื่อนไหวของกลุ่มเจตจำนงประชาชน (People’s Will) ที่ใช้แนวทางก่อการร้ายและความรุนแรงต่อต้านรัฐบาลซาร์ อย่างไรก็ตาม เซทคินพำนักอยู่ที่รัสเซียเป็นเวลาสั้น ๆ เพราะการกวาดล้างอย่างเด็ดขาดของรัฐบาลรัสเซียสืบเนื่องจากเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ (Alexander II)* ได้สำเร็จใน ค.ศ. ๑๘๘๑ ทำให้เซทคินและออสซิปเดินทางกลับไปยุโรปอีกครั้งโดยไปอยู่ที่ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศสตามลำดับ

 ในช่วงที่พักอยู่ที่กรุงปารีส เซทคินพัฒนาความคิดของเธอด้วยการศึกษาค้นคว้าความเกี่ยวพันระหว่างแนวความคิดสังคมนิยมกับคตินิยมสิทธิสตรี (feminism) เพื่อหาแนวทางการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของกรรมกรหญิงในการเคลื่อนไหวของชนชั้นกรรมาชีพทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักสังคมนิยมยุโรปคนอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากในต่างแดนมีส่วนทำให้เธอป่วยหนักด้วยวัณโรคจนต้องขอความช่วยเหลือจากบิดามารดา ครอบครัวจึงนำเธอมารักษาตัวที่ไลพ์ซิก เมื่อเริ่มมีอาการดีขึ้นเซทคินได้เข้าร่วมกิจกรรมกับพวกสิทธิสตรีและมีโอกาสกล่าวปราศรัยเป็นครั้งแรกต่อสาธารณะเกี่ยวกับการปลดแอกสตรีและกรรมกรจากโซ่ตรวนของการกดขี่ผ่านการปฏิวัติทางชนชั้น เธอเน้นว่าความเสมอภาคทางชนชั้นจะเกิดขึ้นได้เฉพาะในสังคมแบบสังคมนิยมแห่งลัทธิมากซ์เท่านั้นซึ่งจะทำให้การกดขี่ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ผู้หญิงต้องแบกรับถูกทำลายลง หลังจากหายป่วยเซทคินฝากบุตรให้ครอบครัวเลี้ยงดูและเดินทางกลับไปกรุงปารีสเพื่อทำงานเคลื่อนไหวในชุมชนชาวเยอรมันลี้ภัยต่างแดนและขณะเดียวกันก็ดูแลออสซิปสามีที่ป่วยด้วยวัณโรคกระดูกสันหลังอย่างไรก็ตาม อาการป่วยของออสซิปไม่ได้ดีขึ้นและเสียชีวิตในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๘๙ ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกันเซทคินเป็นผู้แทนสตรีคนหนึ่งในจำนวนสตรี ๘ คนของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันที่ได้เข้าร่วมการประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองสังคมนิยมต่างๆของยุโรปในกรุงปารีสเพื่อผลักดันการสถาปนาองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ (Second International)* ขึ้น เธอไม่เพียงได้พบและผูกมิตรกับนักสังคมนิยมยุโรปที่มีชื่อเสียงชาติต่าง ๆ เช่น โรซา ลักเซมบูร์ก (Rosa Luxemburg)* เกออร์กี เปลฮานอฟ (Georgi Plekhanov)* และคาร์ลลีบเนชท์เท่านั้น แต่ยังมีโอกาสกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมว่าด้วยการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของสตรีทางการศึกษาและเศรษฐกิจด้วยการโค่นล้มระบบทุนนิยม บทบาทดังกล่าวมีส่วนทำให้พรรคเอสพีดีต้องการให้เธอมาดูแลนโยบายด้านการศึกษาแก่สตรีของพรรคในเวลาต่อมา

 เมื่อไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II)* ทรงขัดแย้งในด้านนโยบายการบริหารกับบิสมาร์คและพยายามลิดรอนอำนาจของเขา บิสมาร์คไม่พอใจและขอลาออกจากตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๙๐ หลังบิสมาร์คลาออก ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ มีพระราโชบายผ่อนปรนแก่พวกสังคมนิยม และทรงยกเลิกการต่ออายุกฎหมายต่อต้านสังคมนิยมซึ่งหมดอายุลงใน ค.ศ. ๑๘๙๐ พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันจึงกลับมามีบทบาทสำคัญทางการเมืองอีกครั้ง เซทคินเดินทางกลับเยอรมนีใน ค.ศ. ๑๘๙๑ พรรคเอสพีดีมอบหมายให้เธอจัดทำวารสารสำหรับสตรีของพรรคชื่อ Die Gleichheit ขึ้นเพื่อเผยแพร่แนวความคิดลัทธิมากซ์และสิทธิสตรีในหมู่กรรมกรหญิง วารสารฉบับปฐมฤกษ์พิมพ์เผยแพร่ในต้น ค.ศ. ๑๘๙๒ และภายในเวลาอันรวดเร็วก็เป็นที่นิยมอ่านกันไม่เฉพาะในหมู่กรรมกรหญิงเท่านั้นแต่ยังรวมถึงแวดวงนักสังคมนิยมยุโรปทั่วไปด้วยภายในเวลา ๓ ปี เซทคินทำให้ยอดการจัดพิมพ์จาก ๑๑,๐๐๐ ฉบับเพิ่มเป็น ๖๗,๐๐๐ ฉบับ ความสำเร็จในการเป็นบรรณาธิการวารสารฉบับนี้มีส่วนทำให้เซทคินได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการขององค์การสตรีสังคมนิยมระหว่างประเทศ (International Socialist Women) ใน ค.ศ. ๑๙๐๗

 ใน ค.ศ. ๑๘๙๘ เอดูอาร์ด แบร์นชไตน์ (Eduard Bernstein)* นักทฤษฎีการเมืองเชื้อสายยิวซึ่งเป็นแกนนำคนหนึ่งในกลุ่มปีกซ้ายของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันเสนอทัศนะว่า ลัทธิมากซ์ล้าสมัยและการไปสู่สังคมนิยมสามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมอุตสาหกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการปฏิรูปสังคมอย่างสันติวิธีตามวิถีทางของระบอบรัฐสภา แบร์นชไตน์สนับสนุนให้กรรมกรเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองผ่านกิจกรรมและการดำเนินงานของสหภาพแรงงานและผู้แทนของชนชั้นแรงงานในสภาไรค์ชตากเขายังสนับสนุนเอกชนให้ดำเนินการอย่างเสรี แนวความคิดของแบร์นชไตน์ซึ่งต่อมาเรียกว่า “ลัทธิแก้” (revisionism) ถูกเซทคินและลักเซมบูร์กซึ่งเพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคได้ไม่นานนัก รวมทั้งฝ่ายนิยมลัทธิมากซ์วิพากษ์โจมตีอย่างรุนแรง เซทคินยังร่วมเคลื่อนไหวให้ขับพวกลัทธิแก้ออกจากพรรค เอากุสท์ บาเบลผู้นำคนสำคัญขององค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒และผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเอสพีดีสนับสนุนความคิดของเซทคิน อย่างไรก็ตามเขาไม่เห็นด้วยกับความคิดของเซทคินที่เรียกร้องให้สมาชิกพรรคซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. ๑๙๐๕ (Russian Revolution of 1905)* พยายามผลักดันการก่อการปฏิวัติแบบรัสเซียขึ้นเพราะเห็นว่าเงื่อนไขทางการเมืองยังไม่เอื้ออำนวย

 ในช่วงที่กลับมาเยอรมนี เซทคินพบรักใหม่กับเกออร์เกอฟรีดริชซุนเดิล (George Friedrich Zundel) จิตรกรอิสระซึ่งอายุน้อยกว่าเธอ ๑๘ ปีเขาวาดภาพแนวสัจนิยมที่แทรกแนวความคิดสังคมนิยม ทั้งออกแบบโปสเตอร์การเมืองและภาพประดับสำหรับที่อยู่อาศัยของคนงาน เซทคินชอบผลงานของเขาและนำไปสู่การสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งคู่แต่งงานกันใน ค.ศ. ๑๘๙๙ แต่ชีวิตคู่เริ่มมีปัญหาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เนื่องจากเซทคินอุทิศตนให้กับงานการเมืองมากกว่าและมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นในขบวนการปฏิวัติคนทั้งสองจึงหย่าขาดกันใน ค.ศ. ๑๙๒๗ ส่วนคอสท์ยา (Kostja) และมักซิม (Maxim) บุตรชาย๒คนของเธอก็เข้าร่วมในขบวนการสังคมนิยมในเวลาต่อมา

 ใน ค.ศ. ๑๙๐๗ องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ กำหนดจัดการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๗ ขึ้นระหว่างวันที่ ๑๘–๒๔ สิงหาคมที่เมืองชตุทท์การ์ท (Stuttgart) ก่อนหน้าการประชุมที่จะมีขึ้น เซทคินซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการกลางฝ่ายการศึกษาของพรรคเอสพีดีได้ผลักดันการจัดประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกของสตรีสังคมนิยม (First International Conference of Socialist Women) ขึ้นที่ชตุทท์การ์ทด้วย เพื่อผนึกกำลังของสตรีสังคมนิยมในยุโรปและวางแนวทางการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิและผลประโยชน์ของสตรีรวมทั้งให้ “ปัญหาสตรี” เป็นที่รับรู้และยอมรับกันมากขึ้น การประชุมครั้งนี้ซึ่งมีผู้แทนสตรีสังคมนิยมจาก ๑๔ ประเทศรวม ๕๘ คนเข้าร่วมประชุมเป็นเสมือนการโหมโรงประชาสัมพันธ์ข่าวขบวนการสังคมนิยมยุโรปและการประชุมใหญ่ของสากลที่ ๒ ซึ่งกำลังจะเริ่มขึ้น มติสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือการจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการสตรีระหว่างประเทศ (International Women’s Secretariat) ขึ้นโดย เซทคินเป็นผู้นำเพื่อรวบรวมข้อมูลว่าด้วยการเคลื่อนไหวของสตรีและเป็นแกนนำของการเคลื่อนไหวของสตรีสังคมนิยม และเพื่อให้การเคลื่อนไหวของสตรีชนชั้นแรงงานนับเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวของชนชั้นกรรมกรทั้งมวล รวมทั้งให้พรรคสังคมนิยมในประเทศยุโรปต่าง ๆ สนับสนุนการต่อสู้เพื่อสิทธิการเลือกตั้งของสตรีและความเสมอภาคทางกฎหมายระหว่างชายกับหญิง ที่ประชุมใหญ่ขององค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ ก็มีมติรับหลักการดังกล่าว

 ใน ค.ศ. ๑๙๐๘ สตรีเยอรมันได้รับสิทธิให้เข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ เซทคินเห็นว่าแม้ผู้หญิงจะมีโอกาสเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง แต่การที่พรรคถูกควบคุมและบริหารโดยผู้ชายทั้งสมาชิกส่วนใหญ่ก็เป็นชาย ผู้หญิงก็ยังคงไม่มีเสียงมากนักในองค์การพรรคก่อนหน้านั้น ใน ค.ศ. ๑๙๐๖ เซทคินพิมพ์เผยแพร่จุลสารการเมืองที่เธอเขียนเรื่อง The Question of Women’s Work and Women at the Present Time สาระสำคัญคือผู้หญิงยังคงมีสถานภาพเป็นรองชาย การต่อสู้ของผู้หญิงไม่ใช่เพื่อการแข่งขันกันอย่างอิสระกับชายในด้านต่าง ๆ แต่ต้องผนึกกำลังและเคลื่อนไหวต่อสู้ให้ชนชั้นกรรมาชีพมีอำนาจทางการเมือง โดยชายและหญิงในชนชั้นเดียวกันจะต่อสู้เคียงบ่าเคียงเคียงไหล่กันเพื่อโค่นระบอบทุนนิยม การต่อสู้เพื่อสิทธิในการเลือกตั้งเป็นเรื่องของสตรีชนชั้นกระฎุมพี ส่วนการต่อสู้ของสตรีชนชั้นกรรมาชีพคือการต่อสู้เพื่อสิทธิในการทำงาน ค่าแรงที่เท่าเทียมกันการชดเชยในช่วงการลาหยุดเพื่อเลี้ยงดูบุตรหลังคลอดการมีองค์การดูแลเด็กแบบให้เปล่า และการมีโอกาสศึกษาหาความรู้ เซทคินจึงเป็นแกนนำในการรวมสมาชิกสตรีในพรรคให้รวมตัวเป็นกลุ่มเพื่อมีอำนาจต่อรองและมีสิทธิมีเสียงในการร่วมกำหนดแนวนโยบายของพรรค เธอจึงมีบทบาทเป็นที่ยอมรับทั้งในพรรคเอสพีดีและขบวนการสตรีสังคมนิยม

 ในช่วงที่เซทคินเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสมอภาคสตรี เธอมีโอกาสรู้จักและสนิทกับลุยส์ คอร์เนอร์ ซีทซ์ (Luise Korner Zietz ค.ศ. ๑๘๖๕–๑๙๒๒) ซึ่งเป็นนักสิทธิสตรีและเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางของพรรคเอสพีดี ซีทซ์มีบทบาทสำคัญในการปลุกระดมทางความคิดในหมู่สมาชิกพรรคที่เป็นสตรีเกี่ยวกับปัญหาสตรีและขยายฐานเสียงของพรรคในหมู่กรรมกรหญิง ทั้งเซทคินและซีทซ์ทำให้ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในองค์การพรรคและดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในหน่วยงานพรรค ในเวลาต่อมา ซีทซ์ยังสนับสนุนเซทคินและกลุ่มฝ่ายซ้ายในพรรคที่จะแยกออกไปตั้งเป็นพรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระเยอรมัน เธอได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการบริหารกลางของพรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระเยอรมัน และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๙–๑๙๒๒ เป็นผู้แทนพรรคในสภาไรค์ชตาก ต่อมาซีทซ์ต่อต้านการจะรวมตัวของพรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระเยอรมันกับพรรคเอสพีดีอีกครั้ง รวมทั้งการจะรวมเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันด้วย เพราะเห็นว่าพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันอยู่ใต้อิทธิพลของมอสโก

 ใน ค.ศ. ๑๙๑๐ เซทคินจัดการประชุมระหว่างประเทศครั้งที่ ๒ ของนักสังคมนิยมสตรี (Second International Conference of Socialist Women) ขึ้นระหว่างวันที่ ๒๖–๒๗ สิงหาคม เพื่อประเมินสถานการณ์ทั่วไปในยุโรปที่สืบเนื่องจากวิกฤตการณ์บอสเนีย (Bosnia Crisis)* ค.ศ. ๑๙๐๘ ที่อาจเป็นชนวนนำไปสู่การเกิดสงครามในคาบสมุทรบอลข่านในการประชุมครั้งนี้ มีสตรีสังคมนิยม ๑๐๐ คนจาก ๑๗ ประเทศเข้าร่วมประชุม เซทคินเสนอให้พิจารณาเรื่องการกำหนดให้วันที่ ๘ มีนาคมเป็นวันสตรีสากลเนื่องจากในวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๘ เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้คนงานหญิงจำนวนมากที่ถูกกักให้ทำงานเย็บเสื้อผ้าไม่สามารถหลบหนีออกมาได้เพราะนายทุนปิดประตูทางออกจนทำให้เสียชีวิตทั้งหมดอุบัติเหตุครั้งนี้จึงนำไปสู่การเคลื่อนไหวประท้วงจากปัญญาชนสตรีสังคมนิยมและกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายวันที่ ๘ มีนาคมจึงเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการต่อสู้ของผู้หญิง และการเรียกร้องสิทธิเสมอภาคของสตรีทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่ประชุมมีมติให้วันที่ ๘มีนาคมของทุกปีเป็นวันสำแดงพลังของผู้หญิงและการผนึกพลังของสตรีในการต่อสู้เพื่อสิทธิทางการเมืองและสังคม ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๘ ขององค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๒๘ สิงหาคมถึง ๓ กันยายนที่กรุงโคเปนเฮเกน ที่ประชุมใหญ่มีมติเอกฉันท์สนับสนุนมติของการประชุมระหว่างประเทศครั้งที่ ๒ ของนักสังคมนิยมสตรีให้วันที่ ๘ มีนาคมของทุกปีเป็นวันสตรีสากล (International Women’s Day–IWD) หรือวันแรงงานสตรีสากล (International Working Women’s Day) ใน ค.ศ. ๑๙๑๑ ปัญญาชนหญิงสังคมนิยมและนักสิทธิสตรีในประเทศยุโรปในเดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* ก็จัดชุมนุมเฉลิมฉลองวันสตรีสากลอย่างเป็นทางการครั้งแรกในยุโรป และนับแต่นั้นมาก็เริ่มมีการเฉลิมฉลองวันสตรีสากลในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

 เมื่ออาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand)* และพระชายาถูกลอบปลงพระชนม์ซึ่งกลายเป็นชนวนเหตุของสงครามโลกครั้งที่ ๑ เยอรมนีซึ่งเป็นพันธมิตรกับออสเตรีย-ฮังการีจึงประกาศสงครามกับรัสเซียซึ่งสนับสนุนเซอร์เบีย พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันลงมติสนับสนุนงบประมาณสงครามของรัฐบาล เซทคินคัดค้านและทำข้อตกลงผนึกกำลังกันกับกลุ่มปีกซ้ายต่อต้านนโยบายสงครามของพรรคอย่างเด็ดเดี่ยวแต่ไร้ผล ในปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ เซทคินและสมาชิกปีกซ้ายคนสำคัญหลายคนที่มีแนวความคิดสังคมนิยมซึ่งรวมทั้งลีบเนชท์ ลักเซมบูร์ก ฟรันซ์ เมริง (Franz Mehring) เลโอ โยกิชส์ (Leo Jogiches) ร่วมกันจัดตั้งองค์การปฏิวัติใต้ดินที่เรียกชื่อว่าสันนิบาตสปาร์ตาคัสขึ้นสันนิบาตสปาร์ตาคัสสนับสนุนแนวนโยบายของวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* รัสเซียในการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามและการจะใช้วิกฤตการณ์สงครามก่อการปฏิวัติเพื่อยึดอำนาจทางการเมือง

 ในระหว่างสงคราม เซทคินเป็นแกนนำผลักดันการจัดประชุมสตรีสังคมนิยมระหว่างประเทศขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ ที่กรุงเบิร์น (Bern) สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อต่อต้านสงครามและเรียกร้องให้มีการยุติสงครามโดยเร็วที่สุด ผลสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือพรรคสังคมนิยมสายกลางในประเทศยุโรปได้จัดการประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกของนักสังคมนิยม (First Socialist International Conference) หรือการประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์ (Zimmerwald Conference)* ขึ้นในต้นเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๕ ที่หมู่บ้านซิมเมอร์วัลด์ (Zimmerwald) ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากกรุงเบิร์นเท่าใดนักและนำไปสู่การออก “แถลงการณ์ซิมเมอร์วัลด์” (Zimmerwald Manifesto) โจมตีพรรคสังคมนิยมประเทศต่าง ๆ ในยุโรปที่สนับสนุนสงครามและเรียกร้องให้ยึดหลักการกำหนดการปกครองตนเองของประชาชนในการยุติสงคราม โดยปราศจากการยึดครองดินแดนและค่าปฏิกรรมสงคราม เซทคินรณรงค์สนับสนุนแถลงการณ์ซิมเมอร์วัลด์ รัฐบาลเยอรมันจึงจับกุมเธอด้วยข้อหาปลุกระดมทางความคิดที่เป็นภัยต่อสังคมแต่ด้วยปัญหาสุขภาพทำให้เธอซึ่งถูกจำคุกได้ไม่ถึงปีก็ได้รับการปล่อยตัว เซทคินใช้บ้านพักเธอเป็นที่พักพิงของสมาชิกพรรคเอสพีดีที่ต่อต้านสงคราม เมื่อสมาชิกปีกซ้ายของพรรคเอสพีดีแยกตัวออกมาจัดตั้งพรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระเยอรมัน ใน ค.ศ. ๑๙๑๖ เซทคินจึงลาออกจากพรรคเอสพีดีและเข้าร่วมกับพรรคใหม่ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อข่าวการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ในรัสเซียมาถึงเยอรมนีเซทคินมีจดหมายถึงพรรคบอลเชวิคแสดงความยินดีกับชัยชนะของการปฏิวัติ

 เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน (November Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๘ ขึ้นที่เยอรมนีซึ่งนำไปสู่การประกาศตั้งสาธารณรัฐเยอรมันหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าสาธารณรัฐไวมาร์ รวมทั้งการลงนามสัญญาสงบศึก (Armistice)* ระหว่างเยอรมนีกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร สันนิบาตสปาร์ตาคัสและสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระเยอรมันซึ่งต้องการก่อการปฏิวัติแบบการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ในรัสเซียเพื่อจะสถาปนาสาธารณรัฐโซเวียตเยอรมันขึ้นจึงรวมกันจัดตั้งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนีขึ้นในปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ และก่อการลุกฮือระหว่างวันที่ ๑๓–๑๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๑๙ รัฐบาลใช้กองทัพและกองกำลังอิสระ (Free Corps)* ซึ่งเป็นกองกำลังพลเรือนติดอาวุธเข้าปราบปรามและกวาดล้าง แกนนำคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่ถูกจับกุม แต่เซทคินสามารถหลบหนีได้และลี้ภัยไปสหภาพโซเวียต เธอทำงานในแผนกการต่างประเทศขององค์การโคมินเทิร์นในช่วงที่อยู่ที่กรุงมอสโก เซทคินผูกมิตรและใกล้ชิดกับแกนนำสตรีของบอลเชวิคหลายคนซึ่งรวมทั้งนาเดจดา ครุปสกายา (Nadezhda Krupskaya)* คู่ชีวิตของเลนินและอะเล็กซานดรา คอลลอนไต (Alexandra Kollontai)* นักสิทธิสตรีคนสำคัญ เธอสนับสนุนครุปสกายา คอลลอนไตและอีเนสซา อาร์มันด์ (Inessa Armand)* สหายหญิงที่ใกล้ชิดกับเลนินในการจัดตั้งเจนอตเดล (Zhenotdel) หน่วยงานที่เน้นการดำเนินงานเพื่อสตรีขึ้นโดยเฉพาะในพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตและในองค์การโคมินเทิร์น แต่ประสบความสำเร็จไม่มากนัก

 ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ เซทคินเดินทางกลับเยอรมนีและเธอได้รับเลือกเป็นกรรมการในคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน และในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันได้รับเลือกเป็นเลขาธิการของสำนักงานเลขาธิการสตรีระหว่างประเทศของโคมินเทิร์น รวมทั้งในเวลาต่อมาได้เป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการบริหารเปรซิเดียมของโคมินเทิร์น (Presidium of the Executive Committee of the Comintern) แม้เซทคินจะสนับสนุนแนวความคิด “การปฏิวัติถาวร” (Permanent Revolution) ของเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* สหายคู่คิดของเลนินในการจะผลักดันการปฏิวัติโลก เพื่อหนุนช่วยการดำรงอยู่ของการปฏิวัติในรัสเซีย แต่เธอก็ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดของกลุ่มสมาชิกปีกซ้ายหัวรุนแรงของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันที่เรียกร้องการลุกฮือขึ้นสู้เพื่อยึดอำนาจเพราะเห็นว่าหลังเหตุการณ์กบฏคัพพ์ (Kapp Putsch)* ค.ศ. ๑๙๒๐ ฝ่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งล้มเหลวในการชี้นำมวลชนสูญเสียความนิยมจากประชาชนและยังไม่เข้มแข็งพอที่จะยึดอำนาจทางการเมือง เธอจึงสนับสนุนแอนสท์ เทลมันน์ (Ernst Thälmann)* คอมมิวนิสต์หนุ่มหัวก้าวหน้าที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีและเป็นคนประนีประนอมให้เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางพรรคใน ค.ศ. ๑๙๒๓ โดยคาดหวังว่าเขาจะมีโอกาสได้เป็นผู้นำพรรค ในเวลาต่อมาเทลมันน์ได้รับเลือกเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันในเดือน ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๕

 อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งในพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันระหว่างปลาย ค.ศ. ๑๙๒๓ ถึงต้น ค.ศ. ๑๙๒๔ เกี่ยวกับแนวนโยบายการยึดอำนาจทางการเมืองซึ่งเซทคินสนับสนุนกลุ่มปีกขวาของพรรคที่ต่อต้านการยึดอำนาจเพราะเห็นว่าเงื่อนไขการก่อการปฏิวัติยังไม่สุกงอมพอ กลุ่มปีกขวาพ่ายแพ้และทำให้พรรคคอมมิวนิสต์กับกลุ่มการเมืองชาตินิยมในรัฐแซกโซนีและทูรินเจีย (Thuringia) ร่วมกันยึดอำนาจ แม้เซทคินจะถูกบีบให้ลาออกจากคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ แต่เธอก็ยังคงยืนยันความคิดเห็นเดิมตลอดเวลาว่าสถานการณ์การเมืองยังไม่พร้อม ในเวลาต่อมารัฐบาลเยอรมันได้ประกาศกฤษฎีกาฉุกเฉิน (Emergency Decree)* ปราบปรามฝ่ายคอมมิวนิสต์

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๑–๑๙๓๒ เซทคินเป็นสมาชิกสภาไรค์ชตากสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันและเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการบริหารขององค์การโคมินเทิร์น เธอเดินทางไปมาระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตและใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงมอสโกเซทคินสนิทสนมกับครอบครัวของเลนินมาก และสนับสนุนครุปสกายาคู่ชีวิตเลนินซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับผู้หญิงและจัดหลักสูตรการศึกษาสำหรับผู้หญิงเพื่อให้ตระหนักถึงบทบาทและพลังความสามารถของตนในการสร้างสังคมใหม่ ต่อมา เมื่อครุปสกายาเข้าร่วมกับกลุ่มฝ่ายค้านปีกซ้าย (Left Opposition) ซึ่งมีตรอตสกี กรีกอรี ซีโนเวียฟ (Grigori Zinoviev)* และเลฟ โบรีโซวิช คาเมเนฟ (Lev Borisovich Kamenev)* เป็นผู้นำเคลื่อนไหวต่อต้านโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* เซทคินซึ่งสนิทกับครุปสกายาและตรอตสกีก็เข้าร่วมด้วย สตาลินซึ่งรวบอำนาจการปกครองไว้ได้เด็ดขาดในเวลาต่อมาจึงจำกัดบทบาทและหน้าที่ของเธอในโคมินเทิร์น

 การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ พรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ ๓ รองจากพรรคเอสพีดีและพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Worker’s Party; Nazi Party)* เซทคินในวัย ๗๕ ปีได้รับเลือกเข้าสู่สภาไรค์ชตากอีกครั้งหนึ่งในการเปิดประชุมสภาไรค์ชตากครั้งแรกหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ เซทคินซึ่งสุขภาพไม่แข็งแรงและเป็นสมาชิกอาวุโสที่สุดในสภาไรค์ชตากได้รับเกียรติให้กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุม เธอจึงเห็นเป็นโอกาสใช้เวลาค่อนข้างนานในการกล่าวสุนทรพจน์ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยปัญหาการต่อสู้ของสตรีกับสังคมนิยม การจะสถาปนาแนวทางปกครองแบบโซเวียตเยอรมัน รวมทั้งเตือนถึงอันตรายและการคุกคามของลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* และ “ลัทธิสังคมนิยมแห่งชาติ” (National Socialism) ที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* โน้มน้าวจูงใจประชาชน

 เมื่อฮิตเลอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ เขาดำเนินการให้ประธานาธิบดีเพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* ประกาศใช้กฤษฎีกาฉุกเฉินในต้นเดือนกุมภาพันธ์เป็นเวลา ๗ สัปดาห์เพื่อจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคนาซีได้ใช้เหตุการณ์เผาสภาไรค์ชตาก (Reichstag Fire)* ระหว่างวันที่ ๒๗–๒๘ กุมภาพันธ์กล่าวหาพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันว่าอยู่เบื้องหลังการลอบวางเพลิงครั้งนี้ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จำนวนมากถูกจับกุม เซทคินจึงหนีภัยทางการเมืองไปพำนักที่กรุงมอสโก อย่างไรก็ตามในบั้นปลายชีวิตเธอมีปัญหาสุขภาพจนป่วยหนักเธอเสียชีวิตที่สถานพักฟื้นเมืองอาร์คันเกลสโกเอ (Arkangelskoye) ใกล้กับกรุงมอสโกเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๓ อายุ ๗๖ ปี รัฐบาลโซเวียตจัดงานพิธีศพให้เธออย่างสมเกียรติ และผู้นำคอมมิวนิสต์จากประเทศยุโรปต่าง ๆ เดินทางมาร่วมงานศพด้วยเถ้าอัฐิของเธอถูกบรรจุไว้ที่บริเวณกำแพงเครมลิน

 หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เยอรมนีถูกแบ่งเป็น ๒ ประเทศคือ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Federal Republic of Germany) และสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน (German Democratic Republic) สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมันซึ่งปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์และเป็นรัฐบริวารโซเวียตได้ยกย่องเชิดชูเซทคินเป็นวีรสตรีของประเทศ รัฐบาลเยอรมนีตะวันออกจัดพิมพ์ภาพของเซทคินไว้ในธนบัตร ๑๐ มาร์ค และใน ค.ศ. ๑๙๕๔ ได้จัดทำเหรียญคลารา เซทคิน (Claza Zetkin Medal) ขึ้นเพื่อมอบให้แก่สตรีผู้ทำคุณงามความดีแก่ประเทศโดยเฉพาะสตรีที่มีบทบาทด้านสิทธิสตรีนอกจากนี้ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๗–๑๙๖๐ ยังมีการรวบรวมงานเขียนและสุนทรพจน์ที่คัดสรรของเซทคิน Ausgewählte Reden and Schriften (Selected Speeches and Writings) มารวมพิมพ์เป็นหนังสือชุดรวม ๓ เล่ม ใน ค.ศ. ๑๙๘๒ มีการจัดทำเหรียญที่ระลึกราคา ๒๐ มาร์ค ในโอกาสครบรอบปีเกิด ๑๒๕ ปีของเซทคิน.



คำตั้ง
Zetkin, Clara
คำเทียบ
นางคลารา เซทคิน
คำสำคัญ
- กฎหมายต่อต้านสังคมนิยม
- กบฏคัพพ์
- กฤษฎีกาฉุกเฉิน
- กลุ่มเจตจำนงประชาชน
- กองกำลังอิสระ
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน
- การปฏิวัติถาวร
- การปฏิวัติรัสเซีย
- การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. ๑๙๐๕
- การประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์
- คอลลอนไต, อะเล็กซานดรา
- คาเมเนฟ, เลฟ โบรีโซวิช
- โคมินเทิร์น
- ซีทซ์, ลุยส์ คอร์เนอร์
- ซีโนเวียฟ, กรีกอรี
- เซทคิน, คลารา
- ตรอตสกี, เลออน
- แถลงการณ์คอมมิวนิสต์
- แถลงการณ์ซิมเมอร์วัลด์
- เทลมันน์, แอนสท์
- นาซี
- นาเดจดา ครุปสกายา
- บอลเชวิค
- บิสมาร์ค, ออทโท ฟอน
- เบเบิล, เอากุสท์
- แบร์นชไตน์, เอดูอาร์ด
- เปลฮานอฟ, เกออร์กี
- พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต
- พรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน
- พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนี
- พรรคนาซี
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน
- มากซ์, คาร์ล
- ลักเซมบูร์ก, โรซา
- ลัทธิฟาสซิสต์
- ลัทธิมากซ์
- ลัทธิสังคมนิยมแห่งชาติ
- ลัสซาลล์, แฟร์ดีนานด์
- ลีบเนชท์, วิลเฮล์ม
- เลนิน, วลาดีมีร์
- วิกฤตการณ์บอสเนีย
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สตาลิน, โจเซฟ
- สภาไรค์ชตาก
- สหภาพโซเวียต
- สหภาพแรงงาน
- สัญญาสงบศึก
- สากลที่ ๓
- เหตุการณ์เผาสภาไรค์ชตาก
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒
- ออสเตรีย-ฮังการี
- อาร์มันด์, อีเนสซา
- เองเงิลส์, ฟรีดริช
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- ฮินเดนบูร์ก, เพาล์ ฟอน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1857–1933
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๐๐–๒๔๗๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-